นายฐากร ตัณฑสิทธิ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
กสทช.อนุมัติจ้าง อ๊อบเทนเม้นต์ เป็นผู้ทำพีอาร์ทีวีดิจิตอล หลังเสนอราคาต่ำสุด 53.56 ล้านบาท อีกทั้งยังเห็นชอบนำกรอบวงเงินจ่ายค่า USO ทำประชาพิจารณ์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายได้จากทีวีดิจิตอล นอกจากนี้ ยังอนุมัติการแจกคูปองดิจิตอลเพิ่มเติมให้แก่ 4 กลุ่มเป้าหมาย เน้นใช้สมาร์ทการ์ดรับกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล ช่วยลดต้นทุนการพิมพ์คูปอง และการจัดส่งเอกสาร ด้าน “พิชญ์” ส่งหนังสือขอเลื่อนจ่ายค่าเสียหายกรณีเบี้ยวชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz เป็นวันที่ 30 มิ.ย. ยินดีจ่ายดอกเบี้ยปรับเพิ่มเติมจาก 199 ล้านบาท เป็น 200 กว่าล้านบาท
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช.เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ได้อนุมัติจัดซื้อจัดจ้างบริษัท อ๊อบเทนเม้นต์ จำกัด ในการทำประชาสัมพันธ์การเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอล เนื่องจากเสนอราคาต่ำสุดที่ 53.56 ล้านบาท ถูกกว่ากรอบราคากลางที่ตั้งไว้ 63.5 ล้านบาท หลังจากที่มีผู้สนใจเข้ารับการคัดเลือก 6 บริษัท แต่ผ่านคุณสมบัติ และยื่นซองประกวดราคาเพียง 3 บริษัท
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์จัดเก็บเงินรายได้เข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) ด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ทั้งนี้ เพื่อนำร่างไปรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) ของผู้เกี่ยวข้องก่อนจะนำกลับมาให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้ง สำหรับกรอบวงเงินตามร่างหลักเกณฑ์ได้พิจารณาตามรายได้ของสถานี ดังนี้ รายได้ 5 ล้านบาทแรก คิดค่าธรรมเนียม 0.5% ของรายได้, รายได้เกิน 5 ล้านบาท ไม่เกิน 50 ล้านบาท เก็บค่าธรรมเนียม 0.75%, รายได้ 50 ล้านบาท ไม่เกิน 500 ล้านบาท เก็บค่าธรรมเนียม 1%, รายได้เกิน 500 ล้านบาท ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท คิดค่าธรรมเนียม 1.75% และรายได้เกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป คิดค่าธรรมเนียม 2% ทั้งนี้ หากทำประชาพิจารณ์เสร็จก็จะสามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้โดยไม่มีผลย้อนหลัง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติการแจกคูปองเพิ่มเติมให้แก่ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ครัวเรือนที่ยังไม่ได้รับคูปองรอบแรกจากไปรษณีย์ 2.ครัวเรือนที่มีทะเบียนบ้าน และเจ้าบ้านขึ้นภายหลังวันที่ 16 ก.ย.57 3.ครัวเรือนที่มีทะเบียนบ้านมีผู้อาศัยแต่ไม่มีเจ้าบ้าน และ 4.มีทะเบียนบ้านชั่วคราวและมีเจ้าบ้าน โดยการแจกครั้งนี้จะใช้วิธีการส่งหนังสือแจ้งสิทธิไปยังครัวเรือนดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดไปรับกล่องรับสัญญาณดิจิตอลได้ทันทีที่จุดรับ โดย กสทช.จะทำงานเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการปกครอง ทั้งนี้ ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์คูปองดิจิตอล ซึ่งปกติต้องพิมพ์ใบละ 3 บาท และลดค่าธรรมเนียมการลงทะเบียนแบบตอบรับกับไปรษณีย์จากเดิมมีค่าใช้จ่ายฉบับละ 10 บาท เหลือเพียงฉบับละ 1 บาท
ทั้งนี้ จะมีวิธีการป้องกันการทุจริตเพื่อยืนยันว่า เจ้าตัวมารับกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลด้วยการถ่ายรูป และส่งข้อมูลกลับมายัง กสทช.เพื่อส่งต่อให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบได้ ส่วนจะเริ่มแจกเมื่อไหร่นั้นต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ว่าจะมีมติที่ประชุมเป็นอย่างไร ซึ่งที่ประชุม กสทช.ให้อำนาจดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องนำมาเสนอต่อที่ประชุม กสทช.อีกครั้งหนึ่ง
*** แจส ขอเลื่อนจ่ายค่าเสียหายเบี้ยวประมูล 30 มิ.ย.
นายฐากร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ได้รับหนังสือแจ้งจาก นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ขอเลื่อนชำระเงินค่าเสียหายกรณีบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ไม่ชำระเงินประมูลคลื่น 900 MHz โดยแจสยินดีนำเงินมาชำระ แต่ขอจ่ายวันที่ 30 มิ.ย. จากเดิมต้องชำระภายในวันที่ 16 มิ.ย. จึงต้องมีการคิดดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี เพิ่มเติมอีกเป็นเวลา 14 วัน ทำให้จากเดิมแจสต้องจ่ายเงินประมาณ 199.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 200.005 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ด กสทช.ยังพิจารณาการคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน หลังจากมีประชาชนร้องเรียนการใช้โทรศัพท์มือถือแล้วสายหลุดบ่อยเข้ามาจำนวนมาก โดยสำนักงานฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และมอบหมาย นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการด้านกิจการโทรคมนาคม เชิญผู้ประกอบการทั้ง 5 ราย มาประชุมซักซ้อม และสอบถามขั้นตอนต่างๆ
ทั้งนี้ จำนวนเรื่องร้องเรียน ณ เดือนพฤษภาคม มีเรื่องร้องเรียนของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส จำนวน 994 กรณี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จำนวน 497 กรณี บริษัท ทรูมูฟ จำกัด จำนวน 386 กรณี บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำนวน 32 กรณี และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จำนวน 7 กรณี ทั้งนี้ ปัญหาที่ร้องเรียนเข้ามาเป็นปัญหาสายหลุดบ่อยในท้องที่เดิมที่เคยมีการร้องเรียนมาแล้ว แต่ยังแก้ไขไม่ได้
โดยพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด เช่น เขตคลองเตย จตุจักร บางเขน บึงกุ่ม บางนา วัฒนา ฯลฯ ต่างจังหวัดที่ จ.กาญจนบุรี จ.กาฬสินธุ์ จ.ขอนแก่น จ.จันทบุรี จ.ฉะเชิงเทรา ฯลฯ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนในพื้นที่เดิม 2 ครั้ง สำนักงานได้ส่งให้ผู้ประกอบการดำเนินการแก้ไข